จากการค้าขายระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการขนส่งระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ทางบก ทางอากาศ ซึ่งวิธีการที่จะนำมาใช้ป้องกันความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งคือ การใช้อุปกรณ์เพื่อรองรับสินค้า โดยวัสดุบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์รองรับสินค้าจากไม้ (ซึ่งรวมถึงพาเลทไม้) ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการ ที่จะนำมาใช้ในการรักษาสภาพสินค้าในระหว่างการขนส่ง เนื่องจากมีต้นทุนโดยเปรียบเทียบต่ำที่สุดและป้องกันความเสียหายของสินค้าได้ดี
ทั้งนี้ จากการที่ไม้เป็นผลผลิตจากพืช ซึ่งโดยปกติจะมีศัตรูพืชทำลายไม้ที่รู้จักกันแพร่หลาย ได้แก่ ปลวก หรือมอดรูเข็ม เป็นต้น และยังมีศัตรูพืชของไม้ที่มีความร้ายแรงอีกหลายๆ ชนิดที่สามารถติดไปกับบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ติดมากับพืช ผลิตผลจากพืช รวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆ จากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของศัตรูพืชข้างต้น คณะทำงานภายใต้อนุสัญญาสำหรับการอารักขาพืชระหว่างประเทศ จึงได้จัดทำมาตรการที่เรียกว่า มาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับมาตรการสุขอนามัยพืช ฉบับที่ 15 (International Standard for Phytosanitary Measure No.15 ; ISPM No.15) เรื่อง แนวทางการควบคุมบรรจุภัณฑ์ไม้ในการค้าระหว่างประเทศ (Guideline for Regulating Wood Packaging Material in International Trade) เพื่อควบคุมบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศให้ปราศจากศัตรูพืช ซึ่งเมื่อผ่าน การตรวจสอบรับรองแล้ว จึงจะได้รับตราประทับรับรองบนผลิตภัณฑ์ไม้ตามแบบที่ IPPC กำหนด
โดยในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้มีหน้าที่และดำเนินการเป็นผู้ตรวจสอบรับรอง (Certification Body) ให้กับผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ (รวมถึงพาเลทไม้) ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมา
หมายเหตุ : อนุสัญญา IPPC ฉบับปี 1997 (พ.ศ. 2540) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีข้อผูกมัด
ทางกฎหมาย (legally binding agreement) ที่ประเทศสมาชิก FAO ต้องปฏิบัติตามมาตรา 14 ของบทบัญญัติ FAO ปัจจุบัน IPPC มีประเทศภาคี 173 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการระบุสิทธิและข้อตกลงของประเทศภาคีในการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืช ให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (ISPMs) โดยวัตถุประสงค์ของ IPPC คือ สร้างความมั่นใจต่อประสิทธิภาพการป้องกันการเข้ามาและเกิดแพร่ระบาดของศัตรูพืช (แมลง โรคพืช วัชพืช) ที่ติดมากับพืช ผลิตผลจากพืช และวัสดุอื่นๆที่มีโอกาสเป็นพาหะของศัตรูพืช จากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งสนับสนุนมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมศัตรูพืชเหล่านั้น